วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

12-ความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆในทวีปเอเชีย

ความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆในทวีปเอเชีย

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยานอกจากจะมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแล้วกรุงศรีอยุธยายังมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียหลายประเทศโดยมีประเทศสำคัญได้แก่

จีน 

          มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอาณาจักรอยุธยา เริ่มตั้งแต่ พระเจ้าหงหวู่หรือหงอู่ (หรือจูหยวงจาง) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หมิงขึ้นปกครองจีนได้ทรงส่งทูตไปยังอาณาจักรต่างๆ รวมทั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยโดยในพ.ศ.1913ได้ทรงส่งราชทูตอัญเชิญพระบรมราชโองการมายัง กรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1(ขุนหลวงพะงั่ว) ในปีต่อมา คือพ.ศ. 1914

         ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะราชฑูตไทยได้อัญเชิญพระราชสาสน์และบรรณาการไปถวาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางการฑูตครั้งแรก ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับจีน หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเป็นไปด้วยความราบรื่นปรากฏว่าไทยได้ส่งทูตไปเมืองจีนเป็นประจำทุกปีและบางปีมากกว่าหนึ่งครั้งคือ ระหว่าง 1914 - 2054 ทางอยุธยาส่งทูตไปเมืองจีนถึง 89 ครั้งเป็นต้น อยุธยาค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเทศจีนมาก ความสัมพันธ์กับจีนเป็นรูปแบบรัฐบรรณาการ อยุธยาต้องการตลาดสินค้าใหญ่อย่างจีน และไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าเพียงแต่ยอมอ่อนน้อมกับจีนซึ่ง จีนถือตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลใครมายอมอ่อนน้อมจะได้รับการคุ้มครอง และได้ผลประโยชน์กลับบ้านมากกว่าที่อยุธยาส่งบรรณาการไปถวายเสียอีกสินค้าที่เราส่งไปจีนการที่ไทยได้ส่งคณะฑูตบรรณาการไปจีนบ่อยครั้งนั้นผลที่ได้ คือเราได้สิทธิพิเศษทางการค้ากับจีนเพราะคณะฑูตนั้นจะนำสินค้าจากอยุธยามาขายที่จีนด้วยและตอนขากลับก็จะนำสินค้าจากจีน ไปขายที่อยุธยา ด้วย ในการติดต่อค้าขายระหว่างอยุธยากับจีนนั้นต่างก็มีความต้องการสินค้าของกันและกันสินค้าที่ไทย ต้องการจากจีน ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าแพร เครื่องกระเบื้อง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่จีนต้องการจากไทย เช่น เครื่องเทศ รังนก ข้าวพริกไทย

           ต่อมาชาวตะวันตกได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยามีสินค้าบางอย่างที่จีน ซื้อสินค้าของชาติตะวันตกจากอยุธยาไปด้วย เช่นเครื่องแก้ว เครื่องหอม พรม เป็นต้น


ญี่ปุ่น 
          ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนและเข้ามาทำมาหากินอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่ พ.ศ.2083 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และชาวญี่ปุ่นได้อาสาสมัครในครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกองทัพไปรบกับพม่าในสงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ.2135ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเริ่มอย่าง เป็นทางการในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ( พ.ศ.2148 -2153 ) กับโชกุนโตกุงาวะ  อิเอยาสุ ใน พ.ศ.2149 ญี่ปุ่นได้ส่งสาสน์มาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับสมเด็จพระเอกาทศรถพร้อมด้วยดาบ เสื้อเกราะเป็นเครื่องราชบรรณาการ และในขณะเดียว กันได้ทูลขอปืนใหญ่และไม้หอมจากไทย สมเด็จพระเอกาทศรถจึง ส่งสาสน์ตอบไปญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
           ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เจริญสูงสุดในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2153 - 2171 ) เพราะในสมัยนี้ทางการกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นถึง 4 ครั้งคือใน พ.ศ.2159 , 2164 ,  2166 , 2168
           ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากนั้น โดยที่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าจากไทย คือ ข้าว ดีบุก น้ำตาล ไม้ หนังกวาง สินค้าที่ไทยต้องการจากญี่ปุ่น คือ ทองแดง เงินเหรียญ ของญี่ปุ่น ฉากลับแล เป็นต้น

            ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยานอกจากเป็นทหารอาสาแล้วมี ชาวญี่ปุ่นบางคนเข้ารับราชการในอยุธยาในตำแหน่งที่สูงคือ ยามาดา นางามาซา ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นหลังจากสิ้นสุดสมัยพระเจ้าทรงธรรม แล้วเริ่มเสื่อมลง เช่นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งคณะฑูตไปญี่ปุ่น 5 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการต้อนรับ จากญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และปิดประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2182 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นสิ้นสุดลง

อิหร่าน 

          ชาวอิหร่านหรือชาวอาหรับได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาและเข้ารับราชการในราชสำนักไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เช่นเฉกอะหมัด หรือต่อมาเป็นต้นตระกูลบุนนาค ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับอิหร่านนั้นไทยได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาแต่ไม่ค่อยราบรื่นนักเพราะถูกออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนตินฟอลคอน) กีดกันลังกา ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์กับลังกาเพราะทางลังกาได้ส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากไทยเพื่อไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในลังกาสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทางลังกาจึงเรียกพระสงฆ์ที่ไปปฏิบัติพระธรรมที่ลังกาว่าลัทธิสยามวงศ์    

สรุป

            ความสัมพันธ์กับชาติในเอเชียส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค้าเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นหลักโดยเฉพาะการค้ากับ จีนทำให้อยุธยาได้ประโยชน์มากมายจากรูปแบบความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการ ส่วนกับญี่ปุ่นก็เช่นกัน จนมีชาวญี่ปุ่นเข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา คือ ยามาดาได้รับพระราชทานยศเป็น(ออกญาเสนาภิมุข)

11-ความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง

ความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง
 



            สุโขทัย ล้านนา (เชียงใหม่) มอญ พม่า ล้านช้าง (ลาว) เขมร และมลายูความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย  ซึ่งถูกรวมเป็นอันเดียวกับอยุธยาตั้งแต่ ปี 2006 เป็นต้นมาโดยตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองก่อตั้งอยุธยาก็ดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่สุโขทัย  โดยเข้ายึดเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นของสุโขทัยไว้ พระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งสุโขทัยได้ส่งเครื่องบรรณาการมาทูลขอคืนจึงคืนให้และเท่ากับว่า สุโขทัยได้ยอมอยู่ใต้อำนาจอยุธยาตั้งแต่นั้นมาก และสมัยพระอินทราชาได้ทูลขอธิดา พระมหาธรรมราชาที่ 2 ให้สมรสกับเจ้าสามพระยา (พระโอรส)   ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็น การสร้างสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสองอาณาจักรด้วยความสัมพันธ์กับสุโขทัยสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ   ไปประทับที่พิษณุโลก สุโขทัยก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาโดยสิ้นเชิง

ความสัมพันธ์กับล้านนา (เชียงใหม่)

           หลังจากที่ได้สุโขทัยไว้ในครอบครองแล้ว อยุธยาก็รุกต่อขึ้นเหนือหวังยึดครองล้านนา แต่ยกไปตีหลาย ครั้งไม่สำเร็จ ระยะหลังเกิดสงครามเพราะสุโขทัยไปยอมอ่อนน้อมต่อล้านนา ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ของ ล้านนา เพื่อหวังให้ล้านนาช่วยรบกับอยุธยา แต่ในที่สุดสมัยพระไชยราชาธิราชล้านนาก็ตกเป็นของอยุธยา

ความสัมพันธ์กับมอญ

           อาณาจักรมอญส่วนใหญ่จะเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่ากับอยุธยา ส่วนใหญ่พม่าจะยึดครองมากกว่าไทยเหตุผลของความสัมพันธ์ กับมอญเพราะอยุธยาต้องการครอบครองหัวเมืองชายฝั่งที่เป็นเมืองท่าเพื่อติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เมือง ทวาย มะริด และตะนาวศรี เป็นต้นมอญเคยตกเป็นของไทยสมัยพระนเรศวร เท่านั้น นอกนั้น ตกเป็นของพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2081 เป็นต้นมา

ความสัมพันธ์กับพม่า

           ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าสมัยอยุธยาเป็นไปในรูปของสงครามโดยตลอดเพื่อแย่งชิงการปกครองเมือง ประเทศราช ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นไปเพื่อแย่งชิงเมืองท่าในเขต อ่าวเบงกอล ของมอญด้วยสาเหตุที่พม่ามีแผ่นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องขยายอาณาเขตออกมาทางมอญ และล้านนา ซึ่งมีพรมแดน ติดอยุธยา ดังนั้นมอญจึงเป็นรัฐกันชน เมื่อพม่าได้มอญกับล้านนาแล้วก็มักแผ่อำนาจมายังอยุธยาเสมอ

ความสัมพันธ์กับล้านช้าง (ลาว) ล้านช้า

          เป็นมิตรที่แสนดีกับไทยสมัยอยุธยามาตลอดแม้เวลาเราติดศึกพม่าก็ส่งทัพมาช่วยรบมีความสัมพันธ์ ทางเครือญาติเช่นสมัยพระเจ้าอู่ทองได้พระราชทานพระแก้วฟ้า แก่พระเจ้าสามแสนไทย สมัยสมเด็จ พระจักรพรรดิก็ได้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์ความร่วมมือที่ดีต่อกัน คือพระธาตุศรีสองรักที่จังหวัดเลย และ พระราชทานธิดาพระนางเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐาแต่ถูกพม่าชิงตัวไปก่อน

ความสัมพันธ์กับเขมร

         เป็นไปในลักษณะการรับวัฒนธรรมประเพณี เช่นการปกครองรูปแบบสมมุติเทพ และวัฒนธรรมประเพณี ในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย บางครั้งเขมรก็แยกเป็นอิสระหรือไปหันไปพึ่งญวณและมักมาโจมตี ไทยเวลาอยุธยามีศึกกับพม่าสมัยเจ้าสามพระยาของอยุธยาทรงยกทัพไปยึดพระนครของเขมร เขมรต้องย้าย เมืองหลวงไปอยู่ป่าสานและพนมเปญปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของเขมรกับไทยมีทั้งด้านการเมืองและศิลปวัฒนธรรมในด้านการเมือง 

 ความสัมพันธ์กับมลายู

           จะเป็นไปในรูปของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพราะช่องแคบมะละกาเป็นทางผ่านที่จะไปสู่อินเดียและจีน อยุธยาจึงต้องการครอบครอง จึงขยายอำนาจทางทหารไปครอบครอง โดยปรากฏหลักฐานว่าอยุธยายกทัพ ไปโจมตีหลายครั้ง จนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2054 โปรตุเกสยึดมะละกาได้ ส่วนหัวเมืองมลายูอื่นๆ ยังเป็นของอยุธยา จนถึงปี พ.ศ.2310 อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2

 สรุป

           ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการขยายเขตแดนและเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า

           ดังนั้นจึงไม่พ้นการทำสงคราม โดยเฉพาะกับพม่าซึ่งเรามักเป็น ฝ่ายตั้งรับมากกว่าการยกทัพไปรุกราน อยุธยาต้องเสียกรุงแก่พม่าถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2112 สมัยพระมหินทราธิราช ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สมัยพระเจ้าเอกทัศน์

10-ปัจจัยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาณาจักรอยุธยา

ปัจจัยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาณาจักรอยุธยา

             อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์ คือตั้งอยู่ที่บริเวณแม่น้ำ 3 สาย  มาบรรจบกัน มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้อยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ
ถนนรอบเกาะยาวประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำการเพาะปลูกข้าวและยังอยู่ใกล้ทะเลพอสมควร ทำให้สามารถทำการค้าต่างประเทศได้โดยสะดวก

9-การสิ้นสุดอาฌาจัรกอยุธยา

การสิ้นสุดอาฌาจัรกอยุธยา

อยุธยาซึ่งดำรงความเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ มีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 1893 และได้ถึงวาระสิ้นสุด
อันเนื่องมาจากพ่ายแพ้ต่อสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2310 อันมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ
1. ปัญหาภายในราชอาณาจักร ขุนนางมีการแบ่งพรรคพวกและแย่งชิงอำนาจกันตลอดเกือบทุกรัชกาล ปัญหาใหญ่
คือ การแย่งชิงราชสมบัติระหว่างวังหน้าหรือกรมพระราชวังบวรกับผู้ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อมานั่นเอง
การดำรงตำแหน่งวังหน้าเป็นเวลานานตั้งแต่ต้นรัชกาลนั้น ทำให้สามารถสะสมอำนาจได้อย่างดี จึงมีผู้คนเป็นจำนวนมากให้การสนับสนุน
วังหน้าแย่งชิงอำนาจกับวังหลวง ถือเป็นความอ่อนแอของราชวงศ์
2. ปัญหาจากภายนอก พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่อยุธยาต้องทำสงครามกันมาตลอด โดยเริ่มตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
แห่งราชวงศ์ตองอู ที่มีกำลังทางทหารเข้มแข็งได้ขยายอำนาจ จนสามารถผนวกอาณาจักรล้านนาและมอญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า
และการย้ายเมืองหลวงมายังหงสาวดี ทำให้อาณาเขตของพม่าอยู่ติดกับอาณาจักรอยุธยาและทำให้อยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า
เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112
ในสมัยอยุธยาตอนปลายกษัตริย์พม่าราชวงศ์อลองพญาหรือราชวงศ์คองบองได้เข้ามารุกราดินแดนไทย
อันเป็นสงครามต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2303 เมื่อพระเจ้าอลองพญายกทัพเข้ามายึดมะริดและตะนาวศรี
ในครั้งนั้นพระเจ้าอลองพญาทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างทางเสียก่อน ในปี พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ
พระโอรสของพระเจ้าอลองพญา จึงยกทัพเข้ามาโจมตีอาณาจักรอยุธยาอีกครั้ง เริ่มจากเข้ายึดทวาย  มะริด 
และตะนาวศรีก่อน จากนั้นยกทัพเข้ามาตีเมืองตามรายทางที่กองทัพผ่าน คือ เชียงใหม่  ลำพูน  และหัวเมืองฝ่ายเหนือของอาณาจักรอยุธยา
เมื่อ พ.ศ. 2309 พม่าก็ยกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา และด้วยปัญหาภายในที่มีอยู่คือความแตกแยกของขุนนาง
ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกำลังไพร่พล นำมาซึ่งความไม่พร้อมในการรบ ทำให้อยุธยาพ่ายแพ้ต่อสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2310

8-พัฒนาการทางการเมืองการปกครองสมัยอยุธยา

พัฒนาการทางการเมืองการปกครองสมัยอยุธยา

การเมืองการปกครอง

สถาบันพระมหากษัตริย์

            การปกครองของไทยในสมัยอยุธยา   เปลี่ยนแปลงต่างไปจากสุโขทัยเพราะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากเขมร (ขอม)  เข้ามามาก

โดยเฉพาะลัทธิเทวราช  ซึ่งเขมรรับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง  ลัทธินี้องค์พระมหากษัตริยืทรงเป็นสมมุติเทพอยู่เหนือบุคคลสามัญ ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุด  ทรงไว้ซึ่งอาญาสิทธิ์เหนือผู้อื่นทั้งปวงในอาณาจักร คือ นอกจากจะทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินแล้ว ยังทรงเป็น เจ้าของชีวิตราษฎรอีกด้วย

            พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา  จึงมีฐานะแตกต่างจากพระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัยอย่างมาก  เช่น  การเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์   ต้องหมอบคลานแสดงความอ่อนน้อม  การพูดกับพระมหากษัตริย์ต้องใช้ราชาศัพท์  เมื่อเสด็จออกนอกพระราชวังราษฎรต้องหมอบกราบและก้มหน้า  มีกฎมณเฑียรบาลห้ามมองพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์  เนื่องจากพระองค์เป็นสมมุติเทพและเพื่อการป้องกันการทำร้ายพระองค์

สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับประชาชนห่างเหินกัน  ความใกล้ชิดแบบบิดาปกครองบุตรแบบสุโขทัยจึงน้อยลงทุกขณะ

            นอกจากนี้ยังมีระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์อีก  เช่น  ให้ถือเขตพระบรมมหาราชวัง เป็นเขตหวงห้ามสำหรับประชาชนสามัญ  มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด  มีนายประตูดูแลตลอดเวลา  มีมาตราป้อนกันมิให้เจ้าเมือง ลูกขุน  ราชบุตร  ราชนัดดาติดต่อกัน  ต้องการให้แต่ละบุคคลแยกกันอยู่  เป็นการแยกกันเพื่อปกครอง  มิให้มีการรวมกันได้ง่ายเพราะอาจคบคิดกันนำภัยมาสู่บ้านเมืองหรือราชบัลลังก์ได้

การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น  พ.ศ. 1893 – 1991

           การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น  ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ถึงรัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เป็นรูปแบบการปกครองที่ได้รับอิธิพลจากเขมรและสุโขทัยในลักษณะต่อไปนี้

           1.การปกครองส่วนกลาง จัดการบริหารแบบจตุสดมภ์ หมายถึง การที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองโดยตรง ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นกรมสำคัญ 4 กรม ปฏิบัติหน้าที่ดังนี้

กรมเวียง  หรือ กรมเมือง มีขุนเวียงเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของราษฎรทั่วราชอาณาจักร

กรมวัง    มีขุนวังเป็นหัวหน้าดูแลรักษาพระราชวัง  จัดงานพระราชพิธีต่างๆ และพิจารณาพิพากษาคดี

กรมคลัง  มีขุนคลังเป็นหัวหน้า รับผิดชอบด้านการเงินและการต่างประเทศทั่วราชอาณาจักร  ด้านการเงินทำหน้าที่เก็บภาษีอากรใช้จ่ายพระราชทรัพย์  จัดแต่งสำเภาหลวงออกค้าขาย ในด้านต่างประเทศทำสัญญาการค้าและติดต่อทางการทูตกับต่างประเทศ

กรมนา  มีขุนนาเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ดูแลเรือกสวนไร่นาทั่วราชอาณาจักร และจัดเตรียมเสบียงอาหารให้เพียงพอในยามบ้านเมืองมีศึกสงคราม

           2. การปกครองส่วนภูมิภาค  การจัดการปกครองส่วนภูมิภาค จัดตามแบบอาณาจักรสุโขทัย เพราะเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่เคยอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยมาก่อน มีการแบ่งเมืองเป็นระดับชั้น มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง เมืองต่างๆ จัดแบ่งออกดังนี้

            เมืองหน้าด่าน หรือ เมืองป้อมปราการ เป็นเมืองที่มีความสำคัญในการป้องกันราชธานี  ระยะทางไปมาระหว่างเมองหน้าด่าน กับราชธานีใช้เวลาเดินทางภายใน  2 วัน มักเป็นเมืองใหญ่หรือเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศสตร์ พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งพระราชโอรสหรือเจ้านายชั้นสูงไปปกครอง บางที่จึงเรียกว่า เมืองลูกหลวง

หัวเมืองชั้นใน คือ เมืองที่อยู่ถัดจากเมืองหน้าด่านออกไป  พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเจ้านายหรือขุนนางไปปกครองขึ้นตรงต่อเมืองหลวง

หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร เป็นเมืองขนาดใหญ่  ที่มีประชาชนคนไทยอาศัย  อยู่ห่างจากราชธานีต้องใช้เวลาหลายวันในการติดต่อ  มีเจ้าเมืองปกครอง  อาจเป็นผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองเดิม  หรือเป็นผู้ที่ทางเมืองหลวงต่างตั้งไปปกครอง

เมืองประเทศราช     เป็นเมืองที่อยู่ชายแดนของอาณาจักร   ชาวเมืองเป็นคนต่างชาติต่างภาษา  มีเจ้าเมืองเป็นคนท้องถิ่นจัดการปกครองภายในของตนเอง  แต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวายตามกำหนด ได้แก่  ยะโฮร์   เขมร  และเชียงใหม่ (ล้านนา) 

การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนกลาง  พ.ศ. 1991 – 2072

            เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 1991 – 2031) พระองค์ทรงปรับปรุงระเบียบการปกครองใหม่ เพราะเห็นว่าการปกครองแบบเก่ายังหละหลวม  กรุงศรีอยุธยาควบคุมดูแลเมืองในส่วนภูมิภาคได้ไม่ทั่วถึง  บรรดาเมืองต่างๆ  เบียดบังรายได้จากภาษีอากรไว้ ทำให้ราชธานีได้รับผลประโยชน์ ไม่เต็มที่  นอกจากนั้นในระยะที่มีการผลัดแผ่นดิน  หากกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงเข้มแข็ง มีอำนาจ  ก็จะไม่มีปัญหาทางการปกครอง  แต่หากกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอ่อนแอไม่เด็ดขาดหรือยังทรงพระเยาว์อยู่  บรรดาเมืองประเทศราช และเมืองพระยามหานคร  มักฉวยโอกาสแยกตนเป็นอิสระอยู่เสมอ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน เจ้าเมืองมีอำนาจมากและมักจะยกกำลังทหารทหารเข้ามาแย่งชิงราชสมบัติอยู่เนืองๆ และอาณาจักรอยุธยาในสมัยนี้มีอาณาเขตกว้างขวางมากกว่าเดิม  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงต้องปรับปรุงการปกครองใหม่  มีลักษณะสำคัญสองประการ  คือ  จัดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  ทำให้ราชธานีมีอำนาจและมีการควบคุมเข้มงวดขึ้น  และแยกกิจการฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารออกจากกัน (เป็นครั้งแรก)  สาระสำคัญที่เปลี่ยนไปมีดังนี้

           1. การปกครองส่วนกลาง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้มีตำแหน่งมุหกลาโหมและสมุหนายก สมุหกลาโหม รับผิดชอบด้านการทหาร มีหน้าที่บังคับบัญชาตรวจตราการทหาร  เกณฑ์ไพร่พลในยามมีศึก ยามสงบรวบรวมผู้คน อาวุธ เตรียมพร้อม สมุหนายกทำหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักรและดูแลจดุสดมภ์  พระองค์ได้ทรงกำหนดหน่วยงานระดับกรม(เทียบได้กับกระทรวงในปัจจุบัน)  ขึ้นอีก  2  กรม  จึงมีหน่วยงานทางการปกครอง  6  กรม  กรมใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมีเสนาบดีรับผิดชอบในหน้าที่  ดังนี้

กรมมหาดไทย      มีพระยาจักรีศรีองครักษ์เป็นสมุหนายก   มีฐานะเป็นอัตรมหาเสนาบดี  มีหน้าที่ควบคุมกิจการพลเรือนทั่วประเทศ
กรมกลาโหม         มีพระยามหาเสนาเป็นสมุหพระกลาโหม   มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี  มีหน้าที่ควบคุมกิจการทหารทั่วประเทศ       พร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงกรมจตุสดมภ์เสียใหม่   ให้มีเสนาบดีรับผิดชอบงานในหน้าที่ของแต่ละกรม คือ
กรมเมือง              มีพระนครบาลเป็นเสนาบดี
กรมวัง                  มีพระธรรมาธิกรณ์เป็นเสนาบดี
กรมคลัง               มีพระโกษาธิบดีเป็นเสนาบดี
กรมนา                 มีพระเกษตราธิการเป็นเสนาบดี

            2.การปกครองส่วนภูมิภาค   สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯ ให้ยกเลิกเมืองหน้าด่านหรือเมืองลูกหลวง ให้จัดการปกครองหัวเมืองในส่วนภูมิภาค ดังนี้

หัวเมืองชั้นใน จัดเป็นเมืองชั้นจัตวา  ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า  “ผู้รั้ง”  ไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง  ต้องปฏิบัติตามคำ สั่งของราชธานี  เป็นเมืองที่ตั้งอยู่โดยรอบราชธานี เช่น ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เป็นต้น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยาไปทำหน้าที่ผู้รั้งเมือง

หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่เมืองที่อยู่ถัดจากหัวเมืองชั้นในออกไป (ซึ่งเป็นเมืองพระยามหานครในสมัยก่อน)จัดเป็นหัวเมืองชั้นตรี โท  เอก  ตามขนาดและความสำคัญของเมืองนั้นๆ  อาจมีเมืองเล็กขึ้นด้วยพระมหากษัตริย์ทารงแต่งตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์หรือขุนนางผู้ใหญ่ออกไปปกครองเป็นเจ้าเมือง  มีอำนาจเต้มในการบริหารราชการภายในเมือง

เมืองประเทศราช  โปรดฯ ให้มีการจัดการปกครองเหมือนเดิม คือให้มีเจ้านายในท้องถิ่น  เป็นเจ้าเมือง  หรือกษัตริย์ มีแบบแผนขนอบธรรมเนียมเป็นของตนเอง  พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ทรงแต่งตั้ง  เมืองประเทศราชมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนปลาย  พ.ศ. 2072 – 2310

             การจัดการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางตามที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงวางรากฐานไว้คงใช้มาตลอดแต่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพบ้านเมืองยิ่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  (พ.ศ. 2199 – 2231)    ทรงให้ยกเลิกการแยกความรับผิดชอบของอัครมหาเสนาบดีเกี่ยวกับงานด้านพลเรือนของสมุหนายก  และงานด้านทหารของสมุหกลาโหม  โดยให้สมุหกลาโหมรับผิดชอบ
ทั้งด้านทหารและพลเรือน  ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองอีสาน  ส่วนหัวเมืองตอนกลาง  และหัวเมืองชายทะเลตะวันออก  ให้อยู่ในอำนาจของเมืองหลวงโดยตรง  ทั้งนี้ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าการแยกกิจการฝ่ายทหารและฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนจากกันอย่างเด็ดขาด ไม่อาจทำได้อย่างได้ผลดี  โดยเฉพาะในยามสงคราม  บ้านเมืองต้องการกำลังพลในการสู้รบจำนวนมาก  ชายฉกรรจ์ต้องออกรบเพื่อชาติบ้านเมืองทุกคนจึงเป็นการยากในทางปฏิบัติ  อีกประการหนึ่ง  มีบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า  เมื่อให้สมุหกลาโหมคุมกำลังทหารไว้มากทำให้สามารถล้มราชวงศ์กษัตริย์ลงได้

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

6 การสถาปนาอาณาจักรอยุธยา

การสถาปนาอาณาจักรอยุธยา



การสถาปนาอาณาจักรอยุธยา

          การสถาปนาอาณาจักรอยุธยา กรุงศรีอยุธยาถือกำเนิด เมื่อประมาณ พ.ศ.1893 ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งในขณะนั้น ได้มีอาณาจักรคนไทยอื่น ๆ ตั้งบ้านเมืองเป็นชุมชนที่เจริญอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ ละโว้ (ลพบุรี) อู่ทอง (สุพรรณภูมิ) และอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งกำลังเสื่อมอำนาจลงมาแล้ว

แคว้นอู่ทองหรือสุพรรณภูมิ
            แคว้นอู่ทองเป็นชุมชนของคนไทย ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง   มีการค้นพบซากเมืองโบราณและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ในเขตตัวเมืองอู่ทอง (อยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) และในเขตอำเภอเมืองสุพรรณบุรี

            ศูนย์กลางความเจริญของแคว้นอู่ทองอยู่ที่ตัวเมืองอู่ทอง จากหลักฐานที่ค้นพบ ทำให้เชื่อว่า เมืองอู่ทอง เป็นชุมชนโบราณที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (สมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร) จนกระทั่งมีความเจริญสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 - 13 และถือว่ามีอายุเก่าแก่มากกว่าเมืองโบราณที่นครปฐม

            การค้นพบศิลปะโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 ทำให้สันนิษฐานว่า ก่อนในช่วงดังกล่าว อาณาจักรทวารวดีมีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้ หลังจากนั้น เมืองอู่ทอง ได้เสื่อมอำนาจและลดความสำคัญลง โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 - 19 เมืองสุพรรณบุรี กลับมีความเจริญเข้ามาแทนที่

            แค้วนอู่ทองหรือสุพรรณบุรี อาจเป็นเมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทองก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า พระเจ้าอู่ทอง ทรงพาผู้คนอพยพหนีโรคระบาดจากแคว้นสุพรรณภูมิมาสร้างเมืองใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา และต่อมาทรงตั้งให้ ขุนหลวงพะงั่ว ญาติผู้ใหญ่ของพระองค์ไปครองเมืองสุพรรณบุรีแทนแคว้นละโว้หรือลพบุรี

แคว้นละโว้หรือลพบุรี
             เมืองละโว้เป็นชุมชนโบราณ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีความเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 โดย "พระยากาฬวรรณดิศราช" กษัตริย์นครปฐมเป็นผู้สั่งให้สร้างเมืองละโว้ขึ้น ในพ.ศ. 1002 แต่ทั้งเมืองละโว้ นครปฐม อู่ทอง และสุพรรณภูมิ ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ทั้งสิ้น โดยละโว้มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองลูกหลวงทางด้านตะวันออกของอาณาจักร

            แคว้นละโว้มีความเจริญทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 ความเจริญของละโว้แผ่ขยาย ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณปากอ่าวไทยขึ้นไปตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออกจนถึง เมืองนครสวรรค์และเมืองหริภุญไชย

            แคว้นละโว้เริ่มรับวัฒนธรรมฮินดูและพระพุทธศาสนา ลัทธิมหายานจากเขมรอย่างมาก ตั้งแต่ในพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา โดยเชื่อว่าแคว้นละโว้ตกอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองของเขมร เพราะก่อนหน้านี้ละโว้เคยส่งทูตไปเมืองจีนอย่างสม่ำเสมอ แต่หลังจาก พ.ศ.1544 ก็ไม่ได้ส่งไปอีกเลย

แคว้นละโว้ย้ายราชธานีใหม่ ในช่วง พุทธศตวรรษที่ 17

               แคว้นละโว้ถูกคุกคามโดยกองทัพของพระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม (พม่า) เมื่อประมาณ พ.ศ. 1601
               พระนารายณ์กษัตริย์ของแคว้นละโว้ ได้ย้ายราชธานีใหม่มาตั้งตรงปากแม่น้ำลพบุรี (บริเวณที่แม่น้ำลพบุรีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา) เมื่อ พ.ศ. 1625 และตั้งชื่อว่า "กรุงอโยธยา" ส่วนเมืองละโว้เดิมได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ลพบุรี" และมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงอโยธยา หรือแคว้นอโยธยา ตั้งแต่บัดนั้น

กรุงอโยธยา หรือแคว้นอโยธยา

            แค้วนอโยธยามีอำนาจปกครองในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19  สันนิษฐานว่า พระเจ้าอู่ทอง กษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น ได้อพยพพาผู้คนมาตั้งเมืองใหม่ที่ หนองโสน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก สถาปนาเป็นกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 และยกฐานะ ลพบุรี ให้เป็นเมืองลูกหลวงการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

            สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 1893 ซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า พระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ใด และมีถิ่นกำเนิดเดิมมาจากที่ใด มีข้อสันนิษฐานในเรื่องดังกล่าว 3 ประการ ดังนี้

            มีถิ่นกำเนิดเดิมมาจากเมืองอู่ทอง แคว้นสุพรรณภูมิ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1890 เมืองอู่ทองซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำจระเข้สามพัน ประสบภัยธรรมชาติ ลำน้ำจระเข้สามพันตื้นเขิน ขาดแคลนน้ำ จึงเกิดโรคระบาด (โรคห่าหรืออหิวาตกโรค) มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าอู่ทองจึงทรงทิ้งเมือง อพยพผู้คนข้ามฟากแม่น้ำมาตั้งเมืองใหม่ที่บริเวณตำบลหนองโสน (บึงพระราม) ใช้เวลาสร้างเมืองใหม่ 3 ปี และสถาปนาขึ้นเป็นกรุงศรีอยุธยา ราชธานีแห่งใหม่ ใน พ.ศ.1893
             มีถิ่นกำเนิดเดิมมาจากเมืองอโยธยา บริเวณปากแม่น้ำลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นละโว้ โดยพระเจ้าอู่ทองทรงอพยพไพร่พลทิ้งเมืองอโยธยา หนีภัยอหิวาตกโรคระบาด มาสร้างเมืองใหม่เช่นกัน มีฐานะเป็นพระราชโอรสของแคว้นละโว้ พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นละโว้ และมอบหมายให้พระเจ้าอู่ทองไปครองเมืองเพชรบุรี ในฐานะเมืองลูกหลวง ครั้งเมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระเจ้าอู่ทองจึงเสด็จกลับมาครองราชวมบัติในแคว้นละโว้ และต่อมาได้ย้ายมาตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา
            การถือกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา ใน พ.ศ. 1893 เป็นช่วงที่อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นอาณาจักรของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเสื่อมอำนาจลง ตรงกับรัชการพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ในขณะที่ดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก็ยังคงมีแคว้นของคนไทยตั้งบ้านเมืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ ลพบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งต่อมาถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในที่สุดปัจจัยที่สนับสนุนให้การสถาปนากรุงศรีอยุธยาประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่สนับสนุนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา

        1. ความเข้มแข็งทางการทหาร สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ผู้ครองแคว้นละโว้ หรือดเป็นเจ้าเมืองที่มาจากเมืองอู่ทองอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมีกำลังทหารเข้มแข็ง มีกำลังไพร่พลมาก และมีลักษณะเป็นผู้นำทางการเมืองที่ผู้คนยอมรับ จึงให้การสนับสนุนในด้านกำลังคนอย่างเต็มที่

        2. การดำเนินนโยบายทางการทูตที่เหมาะสมกับดินแดนใกล้เคียง พระเจ้าอู่ทองได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งแคว้นสุพรรณภูมิ จึงเป็นการเชื่อมโยงแค้วนละโว้และแคว้นสุพรรณภูมิให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ทั้งสองอาณาจักรลดการแข่งขันทางการเมืองซึ่งกันและกัน

        3. การปลอดอำนาจทางการเมืองภายนอก ในขณะนั้น อาณาจักรสุโขทัยของคนไทยด้วยกันที่อยู่ทางตอนเหนือ และอาณาจักรเขมร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง จึงไม่สามารถสกัดกั้นการก่อตั้งอาณาจักรใหม่ของคนไทยได้

        4. ทำเลที่ตั้งมีความเหมาะสมในด้านยุทธศาสตร์ กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำไหลผ่าน ถึง 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา   ป่าสักและลพบุรี   ทำให้เป็นที่ราบลุ่มต่ำ ข้าศึกจะล้อมกรุงศรีอยุธยาได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมรอบตัวเมืองทำให้ข้าศึกต้องถอนทัพกลับไป

        5. ความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ลักษณะภูมิประเทศของอยุธยาเป็นที่ราบที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ   ประกอบกับอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีการคมนาคมทางน้ำสะดวกทำให้สามารถติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ง่ายการสร้างความมั่นคงของอาณาจักรอยุธยา

           ภายหลังการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพยายามสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นให้แก่อาณาจักร โดยการดำเนินการทางการเมือง ดังต่อไปนี้

          1. การขยายอำนาจไปยังอาณาจักรเขมร เนื่องจากเขมรเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้มาก่อน มีอาณาจักรตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของอยุธยา ทำให้คนไทยเกิดความหวาดระแวงไม่ปลอดภัย

          รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ได้ส่งกองทัพอยุธยาไปตีเขมร  2   ครั้ง ใน พ .ศ. 1895 และ 1896 ทำให้เขมรเสื่อมอำนาจลง ต้องย้ายเมืองหลวงหนี ทางฝ่ายไทยได้กวาดต้อนพราหมณ์ในราชสำนักเขมรมายังกรุงศรีอยุธยา เป็นผลให้เกิดการแพร่หลาย ศิลปวัฒนธรรมเขมรในไทยมากขึ้น
          รัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ 2 (สมเด็จพระเจ้าสามพระยา) เขมรต้องตกเป็นประเทศราชของไทย ทางอยุธยายินยอมให้เขมรได้ปกครองตนเอง โดยส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามประเพณี

2. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา เหตุการณ์สำคัญดังนี้

           รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง กองทัพอยุธยาตี เมืองสรรค์(ชัยนาท) เมืองหน้าด่านของสุโขทัยไว้ได้ใน พ .ศ. 1900  แต่พระยาลิไทย กษัตริย์สุโขทัยได้ส่งทูตมาเจรจาขอคืน ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรทั้งสองยังดำเนินไปด้วยดี
           รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ได้ยกกองทัพไปตีอาณาจักรสุโขทัยหลายครั้ง ใน พ.ศ. 1921 ได้เข้ายึดเมืองกำแพงเพชร (ชากังราว) เมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย พระยาไสยลือไทย กษัตริย์สุโขทัยต้องยอมอ่อนน้อมไม่คิดต่อสู้ ทำให้อยุธยามีอำนาจเหนืออาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่บัดนั้น โดยยินยอมให้สุโขทัยปกครองตนเองในฐานะประเทศราช
           รัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช ได้เสด็จขึ้นมาไกล่เกลี่ยปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชวงศ์ของสุโขทัยด้วยกัน ใน พ.ศ. 1962 จนเหตุการณ์ยุติด้วยดี ในรัชกาลนี้สุโขทัยกับอยุธยามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมากขึ้น เมื่อมีการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าสามพระยาพระโอรสแห่งกรุงศรีอยุธยากับพระธิดาแห่งกรุงสุโขทัย
           รัชกาลพระบรมราชาธิราช ที่ 2 (สมเด็จเจ้าสามพระยา) โปรดให้พระราชโอรส พระราเมศวร (ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ในฐานะที่ทรงมีเชื้อสายสุโขทัย ขึ้นปกครองอาณาจักรสุโขทัย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ พิษณุโลก   เป็นผลให้สุโขทัยกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 1983 เป็นต้นมา

           3. การขยายดินแดนให้กว้างขวาง ทำให้เป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของคนไทย  อาณาจักรอยุธยาได้ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งตอนบนและตอนล่าง กลายเป็นอาณาจักรของคนไทยที่เข้มแข็งที่สุด และเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจทางการเมืองของคนไทยในสมัยนั้นอย่างแท้จริง มีอาณาเขต ดังต่อไปนี้

           ทิศเหนือ จรดอาณาจักรล้านนา และสุโขทัย ซึ่งเป็นอาณาจักรของคนไทยด้วยกัน ต่อมาสุโขทัยถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ในขณะที่อาณาจักรล้านนาตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาและพม่าสลับกัน
           ทิศตะวันออก จรดอาณาจักร เขมรหรือขอม ซึ่งบางสมัยต้องตกเป็นประเทศราชของไทย และบางสมัยก็แข็งเมืองเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อไทย
           ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จรดอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นอาณาจักรของชนชาติลาว มีความเข้มแข็งทางการเมืองรองจากอยุธยา และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
           ทิศตะวันตก อยุธยามีอำนาจครอบครองอาณาจักรมอญ แถบเมืองหงสาวดี เมืองเมาะตะมะ เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด แต่ต่อมาก็ต้องสูญเสียให้แก่พม่าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
ทิศใต้ อยุธยามีอำนาจเหนือแคว้นนครศรีธรรมราช และหัวเมืองมะลายูบางเมือง เช่น ปัตตานี กลันตัน และไทรบุรี เป็นต้น